วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ศิลปะรัตนโกสินทร์
(พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕)

สมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานครฯ ขึ้นเป็นราชธานีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ลงมาจนถึงสมัยปัจจุบันการจำแนกรูปแบบทางศิลปกรรมอาจจำแนกได้เป็น 3 ยุคใหญ่ๆอันได้แก่

1. ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น(รัชกาลที่ ๑-๓)

2. ยุครัตนโกสินทร์ตอนกลาง(รัชกาลที่ ๔-๖)
3. ยุครัตนโกสินทร์ในสังคมประชาธิปไตย(รัชกาลที่๗-ปัจจุบัน)

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอยู่ในขั้นของการก่อร่างสร้างเมืองงานศิลปะจึงค่อนข้างเน้นการสร้างและสืบทอดรูปแบบจากอดีต งานศิลปะรุ่งเรืองมากในรัชกาลที่ ๓ อันเป็นผลมาจากศาสนาและเศรษฐกิจ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากกระแสตะวันตกเข้ามาแรงมากวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนงานศิลปะจึงได้รับอิทธิพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มีการปฏิรูปหรือปฏิวัติในหลายๆส่วน ในสังคมประชาธิปไตยมีความหลากหลายมากจนแทบจะหาข้อสรุปได้ยาก


ประติมากรรม


1.รัตนโกสินทร์ตอนต้น

          สำหรับพระพุทธรูปในรัชกาลที่ ๑ เนื่องจากต้องย้ายเมืองหลวงจากธนบุรีมากรุงเทพฯ จึงมิใคร่จะได้ทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ จึงทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์โบราณซึ่งทิ้งทรุดโทรมอยู่ที่เมืองเหนือลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์ถึง ๑,๒๐๐ องค์เศษ ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปที่เป็นพระประธานอยู่ในวัดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ และกรุงธนบุรี จึงมักเป็นการนำพระเก่าสมัยก่อนๆซึ่งเชิญมาจากที่อื่นและนำมาบูรณะอีกที ส่วนใหญ่เป็นแบบสุโขทัย แต่ที่เป็นแบบอยุธยาก็มีบ้าง นำไปประดิษฐานเป็นพระระเบียงตามอารามต่างๆ เช่นที่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนฯ มีบางองค์ใช้ปูนปั้นพอกทับโลหะให้มีรูปแบบเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ อาจเพื่อป้องกันองค์พระจากพม่าข้าศึกหรือป้องกันบุคคลอื่นไม่ให้ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ก็เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่นพระสุโขทัยไตรมิตร(รูปที่ ๐) ด้วยเหตุนี้ทำให้พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีน้อย เป็นต้นว่า พระประธานในพระวิหารและพระอุโบสถวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ (รูปที่ ๑) เป็นพระปูนปั้น ลักษณะก็คล้ายกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยา หรือพระคันธารราฐปางขอฝนซึ่งโปรดฯ ให้หล่อขึ้นใหม่เนื่องในพิธีพืชมงคล ก็มีลักษณะการครองจีวรคล้ายแบบจีน พระหัตถ์ขวากวักเรียกเมล็ดฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับเมล็ดฝน (รูปที่ ๒) มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะความมีชีวิตจิตใจยิ่งลดน้อยลงไปกว่าสมัยอยุธยา โดยสังเกตจากสีหน้า ที่เรียกกันว่าหน้าหุ่นเพราะพระพักต์นิ่งเฉยเหมือนหุ่นโขน
พระพุทธรูปที่สร้างครั้งรัชกาลที่ ๒ และ ๓ ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือมุ่งเน้นความสวยงามทางลวดลายเครื่องประดับมากกว่าสีพระพักตร์ของพระพุทธรูป ดังอาจเห็นได้จากพระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รูปที่ ๓) และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์ทรงเครื่องขนาดใหญ่หุ้มทองคำ ๒ องค์สีหน้าเรียบเฉยแบบหน้าหุ่นเช่นกัน หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพื่อป้องกันไม่ให้ราษฎรเรียกสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่าแผ่นดินต้นและรัชกาลที่ ๒ ว่าแผ่นดินกลาง เพราะจะเป็นอัปมงคลแก่พระราชวงศ์ นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ค้นคว้าคัมภีร์ทางศาสนาเพื่อคัดเลือกพุทธอิริยาบถปางต่างๆ เพิ่มเติมขึ้น นับรวมกับแบบเดิมเป็น ๔๐ ปาง แล้วทรงสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามระเบียบนั้น พระพุทธรูปเหล่านี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในหอราชกรมานุสรณ์และหอราชพงศานุสรณ์ หลังพระอุโบสถในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่ออุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

รูปที่ 0

รูปที่ 1

รูปที่ 2

รูปที่ 3

2.รัตนโกสินทร์ตอนกลาง

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ นั้นมีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมหลายๆอย่างเช่นรูปแบบทางด้านประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรมรวมถึงความเชื่อทางศาสนาในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชนิยมศิลปะแบบ Realistic ซึ่งคงได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากตะวันตก จึงทรงคิดแบบอย่างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ แก้ไขพุทธลักษณะให้คล้ายมนุษย์สามัญยิ่งขึ้น คือไม่มีพระเกตุมาลาหรือเมาลี และให้มีจีวรเป็นริ้วคล้ายผ้าจริง พระวรกายคล้ายมนุษย์ปกติ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิ เป็นต้นว่า พระนิรันตราย (รูปที่ ๔) แต่พระพุทธรูปแบบนี้ก็ไม่เป็นที่นิยมกันนานนัก ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีการติดต่อกับต่างประเทศกว้างขวาง แม้จะทรงนิยมกระพุทธรูปแนวสมจริงแบบตะวันตกอยู่แต่ก็ยังอิงรูปแบบโบราณอยู่บางประการ เช่น พระพุทธรูปก็กลับมีพระเกตุมาลาใหม่ แต่แนวคิดเรื่องการสร้างพระพุทธรูปให้เหมือนมนุษย์กลับมีมากยิ่งขึ้น คือ พยายามเลียนแบบพระพุทธรูปคันธารราฐของอินเดียซึ่งมีลักษณะเหมือนมนุษย์จริงๆ ดังอาจเห็นได้จาก พระพุทธรูปปางขอฝนซึ่งหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ (รูปที่ ๕) และพระไสยาที่วัดราชาธิวาส แต่ในสมัยนี้บางครั้งก็หันไปจำลองพระพุทธรูปไทยแบบโบราณ เช่นของ เชียงแสน สุโขทัย เป็นต้น เนื่องจากเป็นที่นิยมและศรัทธาต่อคนทั่วไปเสมอมา เป็นต้นว่า พระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร

รูปที่ 4

รูปที่ 5

3.สมัยสังคมประชาธิปไตย

นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ก็มีการแก้ไขลักษณะพระพุทธรูปให้เหมือนสามัญชนยิ่งขึ้นทุกที แต่ยังคงรักษาพระพุทธลักษณะที่สำคัญบางประการไว้ เป็นต้นว่าพระรัศมีเป็นเปลว พระเกตุมาลา พระเกศาที่ขมวดเป็นปม ใบพระกรรณยาวและเครื่องทรงคือจีวรเป็นต้น ทั้งนี้ อาจเห็นได้จากพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ซึ่งคิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ (รูปที่ ๖) ซึ่งเป็นต้นแบบของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่พุทธมณฑล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม เป็นต้น ยิ่งในปัจจุบันบางครั้งก็สร้างสรรค์พระพุทธรูปที่มีรูปร่างลักษณะอิริยาบถอันแปลกๆออกมา เช่น พระพุทธรูปเหยียบโลกซึ่งมีอิริยาบทอันพิสดารหรือพระพุทธรูปของวัดธรรมกายซึ่งมีรูปแบบแตกต่างไปจากของโบราณโดยสิ้นเชิง เป็นต้น ซึ่งงานศิลปกรรมเหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวิธีคิดของคนร่วมยุคสมัยนั้นด้วย

รูปที่ 6

จิตรกรรม

1.รัตนโกสินทร์ตอนต้น

สำหรับจิตรกรรมนั้น ภาพเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็คงตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย แต่อิทธิพลของศิลปะจีนที่มีอยู่บ้างในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นหายไป ภาพเขียนบนฝาผนังโบสถ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๓ นิยมตอนบนเขียนภาพเทพชุมนุม ตอนล่างแถวเดียวกับหน้าต่างมักเขียนเป็นภาพพุทธประวัติหรือทศชาติ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพไตรภูมิ ด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย ภาพเขียนในสมัยนี้ล้วนใช้สีและปิดทองลงบนภาพทั้งสิ้น ภาพเขียนที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และที่วัดระฆังโฆสิตาราม วัดดุสิตาราม กรุงเทพฯ ภาพเขียนบนผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ดูจะรุ่งเรืองที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ดังอาจเห็นได้จากภาพเขียนในพระอุโบสถและพระวิหาร ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม (รูปที่ ๗) และในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม กรุงเทพฯ ในรัชกาลนี้งานจิตรกรรมมีอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาปนอยู่ เพราะมีการค้าขายมากกับประเทศจีน

รูปที่ 7


2.รัตนโกสินทร์ตอนกลาง

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา มีการติดต่อกับต่างประเทศทางตะวันตกมากขึ้น อิทธิพลของจิตรกรรมต่างประเทศทางตะวันตกก็เข้ามาปนอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังของไทย ดังอาจเห็นได้จากภาพเขียนบนผนังพระอุโบสถที่วัดมหาพฤฒาราม วัดบวรนิเวศวิหาร (รูปที่ ๘) และที่ในหอราชกรมานุสรณ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บางแห่งมีภาพชาวต่างประเทศซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพเกี่ยวกับปริศนาธรรมบางอย่างๆ และบางครั้งก็มีการวาดทัศนียวิสัย (perspective) ตามแบบตะวันตกด้วย ช่างเขียนที่สำคัญในรัชกาลที่ ๔ นี้ก็ คือ ขรัวอินโข่ง

รูปที่ 8


3.ในปัจจุบัน

ต่อจากสมัยตอนกลางจิตรกรรมมีความหลากหลายมากทั้งแนวคิดและรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงสื่อ กลวิธี คติ ความเชื่อต่างๆ มีทั้งที่อนุรักษ์ของโบราณและสรรค์สร้างขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างชองงานจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปัจจุบันเช่น หนังสือพระมหาชนก จิตรกรรมฝาผนังวัดตรีทศเทพ หรือจิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธประทีป เป็นต้น

สถาปัตยกรรม


1.รัตนโกสินทร์ตอนต้น

สำหรับสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีดังนี้ คือ แบบอย่างพระสถูปเจดีย์ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑-๓ นิยมสร้างพระปรางค์กับพระเจดีย์ไม้สิบสองเป็นหลัก
รัชกาลที่ ๑ มีการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดสุทัศน์เทพวราราม และให้บูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างในวัดอื่นๆซึ่งมีมาก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เช่น สร้างพระปรางค์ที่วัดระฆัง (รูปที่ ๙) กับพระเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ณ วัดพระเชตุพนฯ(รูปที่ ๑๐) และเจดีย์ทองในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(ภาพที่ ๑๑) ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงดำริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณฯ แต่ค้างอยู่ มาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๓ (รูปที่ ๑๒) สำหรับโบสถ์วิหารในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มักสร้างเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นว่า พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ยังคงมีฐานอ่อนโค้งอยู่ ฐานอ่อนโค้งนี้ในสมัยต่อมาก็หายไป ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เกิดนิยมแบบอย่างศิลปะจีนวัดที่สร้างในรัชกาลนี้บางแห่ง เป็นต้นว่า วัดราชโอรส วัดเทพธิดา ฯลฯ โบสถ์วิหารก็ยักย้ายสร้างคล้ายแบบจีนคือยกเอาช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ออกเสีย หน้าบันหรือหน้าจั่วแทนที่จะเป็นไม้สลักอย่างแต่ก่อนก็เปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูนและใช้ลวดลายดินเผาเคลือบประดับ เสาก็มักเป็นสี่เหลี่ยมทึบใหญ่ ไม่มีบัวหัวเสา (รูปที่ ๑๓) ในรัชกาลนี้ได้ทรงสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนมาก

รูปที่ 9

รูปที่ 10

รูปที่ 11

รูปที่ 12

รูปที่ 13

2.รัตนโกสินทร์ตอนกลาง

รัชกาลที่ ๔ นิยมสร้างพระสถูปกลมทรงลังกา เหตุด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวช ได้เสด็จขึ้นไปธุดงค์ถึงเมืองเหนือ ทรงตรวจค้นและศึกษาเรื่องพุทธเจดีย์ครั้งสมัยสุโขทัย ได้ทรงจำลองแบบพระสถูปราชวงศ์พระร่วงลงมาสร้างในกรุงเทพฯ ดูเหมือนได้สร้างพระสถูปที่วัดบวรนิเวศก่อนที่อื่น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้ยังทรงนิยมจำลองแบบพระเจดีย์สมัยอยุธยามาสร้างด้วย เป็นต้นว่าพระเจดีย์ไม้สิบสององค์ที่ ๔ ในวัดพระเชตุพนฯ(รูปที่ ๑๔) ก็ทรงถ่ายแบบมาแต่พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยในพระนครศรีอยุธยา(รูปที่ ๑๕) และพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(รูปที่ ๑๖) ก็ถ่ายแบบมาแต่พระมหาสถูปในวัดพระศรีสรรเพชญ พระนครศรีอยุธยา(รูปที่ ๑๗) พระสถูปที่สร้างสวมพระปฐมเจดีย์องค์เดิมก็เป็นของที่คิดแบบสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้เช่นเดียวกัน (รูปที่ ๑๘) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างวัดไม่มาก แต่บางแห่ง เป็นต้นว่าวัดราชบพิธ(รูปที่ ๑๙) ได้หันกลับไปทำตามคติแบบเก่า คือยึดพระเจดีย์เป็นประธานของวัดอย่างแต่ก่อน สร้างพระระเบียงและวิหารทิศล้อมรอบพระเจดีย์ ภายนอกประดับประดากระเบื้องหลากสี ตกแต่งภายในโบสถ์วิหารเป็นรูปแบบตะวันตก วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างเลียนแบบศิลปะโกธิคในทวีปยุโรป ต่อมาเมื่อทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี (รูปที่ ๒๐) ก็นับว่าเป็นการผสมกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก

รูปที่ 14

รูปที่ 15

รูปที่ 16

รูปที่ 17

รูปที่ 18


รูปที่ 19

รูปที่ 20

3.รัตนโกสินทร์ตอนปลาย

สถาปัตยกรรมในสมัยปัจจุบันมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างมากมายมีทั้งที่เลียนแบบของโบราณและที่สร้างแบบขึ้นมาใหม่
อาคารบ้านเรือนสมัยรัตนโกสินทร์
สำหรับอาคารบ้านเรือนในสมัยรัตนโกสินทร์ บ้านไม้แบบไทยแท้ก็ยังคงอยู่ต่อไป ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ลงมา นิยมก่อสร้างอาคารด้วยอิฐ เป็นแบบไทยบ้างแบบจีนบ้าง และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ลงมา จึงนิยมสร้างเลียนแบบฝรั่ง ในสมัยนี้มีการก่อสร้างพระที่นั่งแบบไทยแท้ที่สวยงามอย่างยิ่งขึ้นองค์หนึ่ง คือพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง (รูปที่ ๒๑) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นิยมสร้างอาคารแบบฝรั่งกันมาก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น(รูปที่ ๒๒) เดิมจะสร้างเป็นแบบฝรั่งทั้งองค์ แต่ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้กราบบังคมทูลขอให้เปลี่ยนเครื่องบนเป็นยอดปราสาท จึงคงรูปดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่งอนันตสมาคม

รูปที่ 21

รูปที่ 22

รูปที่ 23



4 ความคิดเห็น: